ดนตรีบำบัดในเยอรมนี
ขอเริ่มจากการเรียนนะครับ ดนตรีบำบัดที่ประเทศเยอรมนีมีสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หลักสูตรส่วนมากจะเป็นภาษาเยอรมัน มีที่เมือง Heidelberg ที่มีสอนทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมัน แต่ยังไงก็แนะนำว่าถ้าจะมาเรียนแล้วอยากทำงานต่อ อยู่ยาวๆ เลยยังไงก็ควรเรียนเป็นภาษาเยอรมันนะครับ หลักสูตรการเรียนที่นี่จะเน้นพวกกลุ่มวิชาทางจิตวิทยา เช่น จิตวิทยาทั่วไป จิตวิทยาการพัฒนาการ จิตวิทยาดนตรี โรคทางจิตเวชในเด็กและในผู้ใหญ่ เป็นต้น กลุ่มวิชาทักษะทางดนตรีพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นนักดนตรีบำบัด การทำ clinical improvisation เทคนิคสนทนา การประยุกต์ใช้ดนตรีบำบัดในสายงานต่างๆ นักศึกษาที่นี่จะมีโอกาสได้ทำงานจริงกับคนไข้ในคลีนิกประเภทต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ และมีชั่วโมงบังคับทำ Supervision เพื่อเป็นการปรึกษาปัญหาที่เจอระหว่างฝึกงานกะบอ.ที่ปรึกษา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างเพื่อนร่วมชั้น นอกจากนี้จะมีชั่วโมงที่เรียกว่า Selbsterfahrung หรือเป็นวิชาที่ให้เราเรียนผ่านการทำบำบัดจริงๆ กับอาจารย์ที่มาทำบำบัดให้เรา เพื่อเป็นประสบการณ์ตรง ประมาณว่าก่อนที่เราจะไปบำบัดคนอื่นเราก็ต้องรู้ก่อนว่าเวลาโดนบำบัดมันเป็นไง แล้วก็มันเป็นขั้นตอนการทำให้ผู้เรียนตกผลึกกับตัวเอง มีความเข้าใจในตัวเองก่อนที่เราจะไปเข้าใจคนอื่น ก่อนจะจบก็ต้องมีเขียนวิทยานิพนธ์ตามหัวข้อที่เราสนใจ ถ้า defence ผ่านก็จบหลักสูตร เรื่องรายละเอียดหลักสูตรนี่จะแตกต่างกันตามแต่ละมหาลัย ผมลง link ของมหาลัยที่นี่ทั้งหมดที่เปิดสอนหลักสูตรดนตรีบำบัดทั้งป.ตรีและป.โทให้ครับ
SRH Hochschule, Heidelberg (Bachelor)
https://www.hochschule-heidelberg.de/bachelor/musiktherapie/
Medical School Hamburg (Bachelor*)
https://arts-and-social-change.de/bachelor/musiktherapie/
Leopold-Mozart-Zentrum an der Uni Augsburg (Master)
https://www.uni-augsburg.de/…/studien…/ma-musiktherapie/
Universität der Künste Berlin (Master)
https://www.udk-berlin.de/…/musiktherapie-master-of-arts/
Theologische Hochschule Friedensau (Master)
https://www.thh-friedensau.de/…/master-of-arts…/
Hochschule für Musik und Theater Hamburg (Master)
https://www.hfmt-hamburg.de/paedago…/musiktherapie/master/
SRH Hochschule Heidelberg (Master)
https://www.hochschule-heidelberg.de/master/musiktherapie/
Hochschule für angewandte Wissenschaften Würzburg-Schweinfurt (Master*)
https://www.fhws.de/studium-an…/studieren/studiengaenge/
ระหว่างที่เรียนหรือเรียนจบแล้วเราสามารถเป็นสมาชิกสมาคมดนตรีบำบัดของเยอรมันได้ DMtG (musiktherapie.de) เพื่อรับข้อมูลข่าวสารในวงการดนตรีบำบัด สมาชิกสามารถขอรับใบรับรองการเป็นนักดนตรีบำบัดได้ตามเงื่อนไขของสมาคม เพื่อโอกาสในการทำงานหรือขอรับความช่วยเหลือในบางเรื่องได้ครับ
เรทเงินเดือนของนักดนตรีบำบัดนี่ต้องบอกไว้ก่อนว่าอาชีพนี้ไม่ทำให้รวยนะครับ รายได้จะเทียบกับพวกสายวิศวะหรือหมออะไรแบบนี้ไม่ได้เลย แต่ถือว่าเหลือพอสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมันแบบสบายๆ อัตราเงินเดือนนี่อิงจากฐานเงินเดือนของ Tarifvertrag für den Öffentlichen Dienst (TVöD) มันจะคล้ายๆ ฐานเงินเดือนของลูกจ้างรัฐประมาณนี้ครับ นักดนตรีบำบัดจะอยู่ในกลุ่ม 9 (Entgeltgruppe 9) เป็นอย่างต่ำ เงินเดือนก่อนหักภาษีอยู่ที่ 3,051.16€ (เงินไทย x36-37 เอานะครับ) มีบางที่ให้มากกว่า เป็นกลุ่ม 10-11 (กลุ่มยิ่งสูงเงินยิ่งเยอะ นักจิตวิทยาที่มีใบรับรองฐานเงินเดือนเริ่มที่กลุ่ม 14) ในแต่ละกลุ่มจะมีระดับ (Stufe) แยกอีก เพื่อแบ่งตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน อยากถ้าจบโทจะได้ที่ Stufe 2 ก็จะมากกว่าคนที่อยู่ Stufe 1 ร้อยกว่ายูโร แล้วยิ่งอยู่นานระดับ Stufe ก็จะเพิ่มไปเรื่อยๆ ครับ
เส้นทางจากไทยมาเยอรมนีสู่การเป็นนักดนตรีบำบัด
เวลาสมัครเรียนต่อที่เยอรมันนอกจากต้องสอบวัดระดับภาษาเยอรมันโดยจะใช้ TestDaf หรือ DSH ก็ได้ครับ ส่วนใหญ่เขารับคนที่จบดนตรี จิตวิทยา หรือคนจากสายสังคมหรือมนุษยวิทยา อันนี้ต้องดูรายละเอียดของแต่ละที่อีกทีนะครับ ที่สำคัญที่ทุกๆ ต้องการคือประสบการณ์การทำงานหรือประสบการณ์ฝึกงานในสายดนตรีบำบัด ผมแนะนำว่าตอนนี้ที่ไทยเริ่มมีสถานพยาบาลของทั้งรัฐและเอกชนที่ให้บริการดนตรีบำบัดแล้วนะครับ ยังไงลองติดต่อแอดมินตามเพจดนตรีบำบัดด้านล่างนี้เพื่อสอบถามรายละเอียดการหาสถานที่ฝึกงานในไทยก่อนจะไปนะครับ
https://www.facebook.com/ThaiMusicTherapy
https://www.facebook.com/musictherapy.cmtd
https://www.facebook.com/musictherapythailand
อีกทางเลือกหนึ่งของการฝึกงานคือ เรามาด้วยวีซ่าเรียนภาษาเยอรมันก่อน เราจะได้เวลามาเรียนภาษาที่นี่ก่อน 1 ปี สามารถต่อได้ตามแต่เจ้าหน้าที่ตม.ที่นี่จะเห็นสมควร แล้วระหว่างที่เราเรียนภาษาให้ลองเข้าเว็บ https://www.musiktherapie.de/standort/ เพื่อหาสถานที่ฝึกงานดูนะครับ เรียนภาษาแล้วพยายามสอบ TestDaf หรือ DSH ให้ผ่าน แล้วยื่นเอกสารสมัครเข้ามหาลัยในเมืองที่อยากไป ถ้าเอกสารครบมหาลัยจะเรียกไปสอบปฏิบัติก่อน เวลาสอบเขาจะดูเรื่องทักษะพื้นฐานการเล่นเครื่องดนตรีของเราว่าเรามีความมั่นใจกับเครื่องดนตรีของเราแค่ไหน และจะให้เราลอง improvise ด้วย อาจจะให้จับคู่กับคนที่มาสอบด้วยกันแล้วมีหัวข้อให้เรา improvise ไปตามนั้น ทีนี้คนที่ไม่ได้เรียน jazz มาไม่ต้องกลัวนะ การ improvise ของดนตรีบำบัดคือการ express ในสไตล์ของเรา ไม่มีถูกไม่มีผิด ถ้าเราสามารถ reflect การเล่นของเราได้ อันนั้นก็คือถือว่าผ่านครับ พอสอบผ่านแล้วเราจะได้รับรองการเข้าเรียนต่อ (Zulassung) เอาไว้ไปต่อวีซ่า (Aufenthalterlaubnis แปลให้ถูกคือ สิทธิพำนัก นะครับ แต่ขอเรียก วีซ่า ละกัน สั้นดี) เพื่อจะได้เปลี่ยนจากวีซ่าเรียนภาษาเป็นวีซ่านักเรียน ซึ่งระหว่างเรียนเราสามารถทำงานประเภท minijob ไปด้วยได้ คือไม่เกิน 450€ ต่อเดือน พอเรียนจบเราสามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่าหางาน มีระยะเวลาหางานได้ 18 เดือน ถ้าระหว่างนี้ได้งานก็เปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงาน ข้อกำหนดระหว่างที่เราได้วีซ่าทำงานคือต้องหางานที่ตรงกับที่เรียนมา ถ้าทำงานไปได้ระยะหนึ่งและได้สัญญาว่างจ้างแบบไม่กำหนดระยะเวลาแล้ว (unbefristete Arbeitsvertrag) อันนี้เราจะได้เปลี่ยนสิทธิพำนักเป็นสิทธิพำนักในการตั้งถิ่นฐาน (Niederlassung) อันนี้คือจะสามารถอยู่เยอรมันได้ไม่จำกัดระยะเวลาแล้ว สามารถทำงานอย่างอื่นที่ไม่ตรงกับที่เรียนมาได้ และสามารถทำเรื่องขอสัญชาติเยอรมันต่อได้หากเข้าเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนด
Neueste Kommentare