เป็นนักดนตรีบำบัดต้องรู้อะไรบ้าง

เป็นนักดนตรีบำบัดต้องรู้อะไรบ้าง

คำว่า „ดนตรีบำบัด“ สำหรับบ้านเรานั้นยังค่อนข้างเป็นคำใหม่ซึ่งไม่เฉพาะกับคนไทย แม้แต่ฝรั่งเองส่วนมากก็ยังไม่รู้จักว่าดนตรีบำบัดมันใช้ทำอะไร มาทำดนตรีบำบัดแล้วได้ผลจริงหรือไม่ มันเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องที่พวกเราต้องเจอในชีวิตประจำวันเวลาเริ่มต้นกระบวนการบำบัดที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้เข้ารับการบำบัดให้ชัดเจนก่อนเพื่อให้เกิดผลในการรักษามากที่สุด แต่ก่อนที่นักดนตรีบำบัดคนหนึ่งจะไปทำความเข้าใจ จะไปดูแลช่วยเหลือคนอื่นได้นั้น เขาต้องผ่านการทดสอบ ต้องรู้อะไรบ้าง ก่อนที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักดนตรีบำบัดได้

ในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือเกี่ยวกับชีวิตของคนอื่นมันเป็นความรับผิดชอบของคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขที่ต้องมีความเข้าใจในตัวงานที่ทำอยู่ให้ลึกซึ้งเป็นอย่างดี ก่อนที่จะได้รับการรับรองหรือได้รับอนุญาตให้เริ่มทำงานได้ ไม่ใช่แค่พอได้ชื่อว่าไปเข้าคอร์สอบรมมาครั้งสองครั้งแล้วก็มาเรียกตัวเองว่าเป็นหมอ เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นนักดนตรีบำบัด แต่พอเอาเข้าจริง ๆ กลับไม่มีความรู้หรือรู้น้อยมากในสิ่งที่ตัวเองทำ เรียกได้ว่านอกจากจะไม่เคารพในสิทธิ์ของผู้เข้ารับการบำบัดที่สมควรได้รับการดูแลจากผู้ที่ได้รับการรับรอง แต่ยังเหมือนเป็นการไม่เคารพหรือโกหกตัวเองด้วย

เรียนดนตรีบำบัดอย่างแรกที่นักดนตรีบำบัดจำเป็นต้องมีและต้องพัฒนาฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอคือทักษะทางด้านดนตรี ขอแยกเป็นข้อๆ ตามนี้

  • มีความรู้ทางด้านทฤษฎีดนตรี:

ความรู้ทางทฤษฏีดนตรีนี้เหมือนเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่นักดนตรีบำบัดพึงศึกษาไว้ เพราะเป็นเสมือนประตูบานแรกสู่โลกแห่งเสียงเพลง เป็นพื้นฐานที่นักดนตรีบำบัดทุกคนต้องรู้ ตั้งแต่เรื่องการอ่านเขียนโน้ต เรื่องบันไดเสียง คู่เสียง เสียงประสาน การย้ายบันไดเสียง ฉันทลักษณ์ทางดนตรี ฯลฯ หากจะถามว่าทำไมนักดนตรีบำบัดควรเรียนรู้ทฤษฎีดนตรีนั้นจะว่าไปก็เหมือนกับการตั้งคำถามว่าเราเรียนเลข เรียนสมการอะไรยาก ๆ ในโรงเรียนไปทำไม? จริงอยู่ที่เวลาทำงานจริงเราคิดถึงเรื่องทฤษฎีดนตรีกันน้อยมาก (อันนี้ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปการทำงานในแต่ละสาขาด้วย) แต่เรื่องพวกนี้เราศึกษาไว้เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดให้เกิดการนำไปต่อยอดพัฒนาในทางปฏิบัติอีกทีหนึ่ง

  • มีทักษะการปฏิบัติเครื่องดนตรีในระดับหนึ่ง:

เครื่องมือในการทำมาหากินของนักดนตรีบำบัดก็คือดนตรี หากรู้แค่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องสามารถเล่นเครื่องดนตรีประเภทใดประเภทหนึ่งได้ด้วย มีเครื่องดนตรีหลักของตัวเองหนึ่งเครื่องที่สามารถเล่นได้อย่างมั่นใจ ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่นนั้น ขอใช้คำว่า „ควร“ รู้ว่าเครื่องดนตรีชนิดนั้นๆ ใช้งานอย่างไร รู้จักที่มาที่ไปพอสมควร แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเล่นได้อย่างมืออาชีพหรือถึงขนาดเป็น Virtuoso ในทุกๆ เครื่อง อย่างน้อยเครื่องดนตรีที่ตั้งอยู่ในห้องบำบัด นักดนตรีบำบัดควรรู้จักและใช้งานได้อย่างมั่นใจ อธิบายให้ผู้รับการบำบัดถึงวิธีการเล่น การจับถือได้อย่างถูกต้อง เครื่องดนตรีหลักๆ ที่ใช้ในการบำบัดได้แก่:

  • เครื่อง Percussionทุกประเภท ตั้งแต่กลองชุด กลองแอฟริกา ฉิ่ง ฉาบ กรับ ไซโลโฟน มาริมบา ฯลฯ
  • กีตาร์ อันนี้เป็นเครื่องดนตรีพื้นฐานที่นักดนตรีบำบัดทุกคนต้องเล่นได้ ควรเล่นคอร์ดแล้วร้องเพลงตามได้
  • เปียโน ใช้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะในคลีนิกดนตรีบำบัดแบบส่วนตัวและในบางสาขาของดนตรีบำบัด เปียโนถือเป็นเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ในการบำบัดและนักดนตรีบำบัดต้องผ่านการทดสอบเปียโนในระดับสูงทีเดียว
  • เครื่องสาย ไวโอลิน ดับเบิ้ลเบส ฮาร์ป เป็นต้น
  • เครื่องเป่า นั้นมีใช้บ้าง แต่ต้องคำนึกถึงความสะอาดเป็นสำคัญ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

นอกจากเครื่องดนตรีแล้วนักดนตรีบำบัดควรร้องเพลงได้ ไม่จำเป็นต้องร้องได้ดีถึงขนาดไปประกวด The Voice แต่ต้องมีความมั่นใจในการใช้เสียงของตัวเอง ไม่ควรร้องเพลงเพี้ยน ผิดคีย์ เล่นดนตรีประกอบการร้องเพลงได้

  • ทักษะเรื่องการ Improvise:

การอิมโพรไวส์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการเรียนและการทำงานด้านดนตรีบำบัด การอิมโพรไวส์เพื่อการบำบัดนั้นมีรากฐานมาจากการอิมโพรไวส์ของแจ๊สในรูปแบบ Free Paly คือไม่มีกฎเกณฑ์ในการเล่น ไม่มี Melodie หรือ Chord Progression ที่แน่นอน นักดนตรีหยิบเครื่องดนตรีมาเจอกันแล้วก็เล่นเลย แต่ในการบำบัดนั้นจะต่างกับการเล่นแจ๊ส คือผู้รับการบำบัดไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านเสียงประสานและไม่จำเป็นต้องเล่นเครื่องดนตรีเป็น เพียงแค่เล่นออกมาตามอารมณ์ ความนึกคิดของตัวเองในขณะนั้น หากนักดนตรีบำบัดที่มีความรู้ทางด้านอิมโพรไวส์ดีพอ จะเป็นการช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดกล้าที่จะเล่นและรู้สึกสนุกไปกับเครื่องดนตรีที่ตัวเองอาจจะเพิ่งเคยสัมผัสเป็นครั้งแรกในชีวิต

เรื่องการอิมโพรไวส์นี้มีเทคนิคมากมายที่นักบำบัดจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดแสดงถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกหรือพฤติกรรมที่แท้จริงของตนเองออกมาผ่านเสียงและลักษณะการเล่น แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นการเรียนอิมโพรไวส์เพื่อการบำบัดนั้นไม่ได้เรียนแบบนักศึษาดนตรีแจ๊ส แนวคิดการอิมโพรไวส์เพื่อการบำบัดนั้นจะเปรียบเสมือนการเรียนรู้เทคนิคในการสื่อสารกับผู้อื่นโดยการใช้สื่อดนตรีแทนภาษา เทคนิคการอิมโพรไวส์นี้จะต้องปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ในชั่วโมงบำบัด จุดประสงค์ของผู้เข้ารับการบำบัดหรือหัวข้อการบำบัดในชั่วโมงนั้น ๆ

  • Musical Senses:

เป็นนักดนตรีบำบัดแน่นอนว่าก็ต้องใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือทำมาหากิน หากรู้จักแค่ว่าเล่นเครื่องดนตรียังไงแต่ไม่มีความเข้าใจดนตรีก็คงยากที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ นอกจากนี้ควรมีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงของเสียงและระดับเสียง มีความรู้สึกทางจังหวะที่ดี ไวต่ออารมณ์ที่ซ่อนอยู่ระหว่างตัวโน้ต และสามารถบรรยายดนตรีที่ตนเองได้ยินและสื่อสารออกมาเป็นคำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย

อีกกลุ่มวิชาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากลุ่มวิชาทางด้านดนตรีคือกลุ่มวิชาทางด้านจิตวิทยา รายละเอียดในแต่ละวิชาในกลุ่มนี้จะต่างกันออกไปตามแต่ละสาขาหรือแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับทฤษฎีที่นำมาใช้อ้างอิง เช่นทางประเทศยุโรปก็จะเน้นไปที่เรื่องจิตวิทยา จิตวิเคราะห์หรือกลุ่มวิชาจิตบำบัด ในอเมริกาก็จะเน้นไปที่เรื่องจิตวิทยาดนตรี กลุ่มวิชาด้านกายวิภาค ประสาทวิทยาเป็นต้น รายละเอียดเรื่องรายวิชาการเรียนการสอนนี้เราสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ ที่เปิดหลักสูตรดนตรีบำบัด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงภาพรวมคร่าว ๆ ไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาต่อทางนี้

  • กลุ่มวิชาจิตวิทยาทั่วไป หลายคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าคนที่เรียนจิตวิทยาต้องวิเคราะห์คน ต้องอ่านความคิดคนได้อะไรแบบนั้น แต่อันที่จริงจิตวิทยาเป็นองค์ความรู้ทางวิทยาศาตร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและกระบวนการทำงานของจิตใจคน เรียนเพื่อให้เข้าใจกระบวนการความคิด พฤติกรรมของคน มิใช่เรียนเพื่อให้ไปตัดสินคนอื่นว่าเขามีปัญหาทางจิตหรือเรียนเพื่อไปแก้ปัญหาชีวิตคนอื่น องค์ความรู้ทางจิตวิทยาในทางปฏิบัติจะไม่ได้อยู่ในหมวดนี้
  • กลุ่มจิตวิทยาพัฒนาการ เรียนเกี่ยวกับการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ การเรียนรู้ของคนในวัยต่างๆ การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ของคนในวัยต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของการพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ
  • กลุ่มวิชาโรคทางจิตเวชในเด็กและผู้ใหญ่ ดนตรีบำบัดในยุโรปถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบจิตบำบัด จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่นักดนตรีบำบัดต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านโรคทางจิตประเภทต่าง ๆ ลักษณะอาการ สาเหตุการเกิดโรค ในบางสถานการณ์นักดนตรีบำบัดอาจจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยโรคด้วยตนเองด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้ทางด้านการวิเคราะห์โรคก็เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับนักดนตรีบำบัดการเรียนในกลุ่มวิชานี้จะเป็นการเรียนเพื่อให้รู้ถึงลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละโรคในแต่ละกลุ่มประชากร แต่จะไม่ได้ลงลึกเหมือนอย่างคนที่เรียนจิตวิทยาคลีนิกหรือคนที่เรียนจิตบำบัดที่ต้องสามารถแยกแยะโรคแต่ละโรคได้อย่างแม่นยำ
  • จิตวิทยาดนตรี เรียนเกี่ยวกับผลของดนตรีที่มีต่อคนเราในด้านต่างๆ และการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดนตรีในชีวิตประจำวัน เพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อการบำบัดรักษา

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิชาการเทคนิคบำบัด เช่น

  • เทคนิคในการสนทนากับคนไข้ จะเรียนเกี่ยวกับวิธีในการพูดคุยกับผู้เข้ารับการบำบัดอย่างไร ให้เขารู้สึกสบายใจมากที่สุด รวมไปถึงวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้เข้ารับการบำบัด
  • วิธีการบำบัดแบบกลุ่ม จะศึกษาแนวทางการทำการบำบัดแบบกลุ่ม การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มอย่างไร รวมทั้งจะใช้เทคนิคในการบำบัดอย่างไรเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในกลุ่มบำบัด รู้สึกว่าได้รับความสนใจจากนักบำบัดอย่างเท่าเทียมกัน
  • กลุ่มวิชาเฉพาะกลุ่มประชากร เช่น ดนตรีบำบัดในเด็กและวัยรุ่น ดนตรีบำบัดสำหรับผู้ป่วยทางระบบประสาท ดนตรีบำบัดสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวช ดนตรีบำบัดในผู้สูงอายุ กับผู้ติดยา หรือดนตรีบำบัดเพื่อลดความเจ็บปวด เป็นต้น

ในกลุ่มวิชาที่กล่าวมาทั้งหมดมีวิชาหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือวิชา self experience, self awareness คือการที่นักศึกษาดนตรีบำบัดจะต้องผันตัวเองไปอยู่ในบทบาทของการเป็นผู้ถูกบำบัดเสียเอง ทั้งนี้เพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเองให้มากที่สุดเสียก่อน ควรรู้ว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งด้านไหน เรียนรู้ที่จะรับรู้อารมณ์รวมไปถึงความผิดปกติหรือปมในอดีตของตัวเราเอง วิชานี้เป็นวิชาบังคับสำหรับคนที่เรียนทางด้านจิตบำบัดในเกือบจะทุกสาขา ถือเป็นการเรียนรู้วิธีการที่จะเข้าใจผู้อื่นได้ดีที่สุดคือเราต้องเข้าใจตัวเราเองเสียก่อน นอกจากนี้ยังเป็นการทดลองใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่เรียนมากับตัวเองว่าหากเราได้รับการบำบัดแบบนี้แล้วเราจะรู้สึกอย่างไร ก่อนที่เราจะนำเอาวิธีการเหล่านั้นไปใช้กับคนไข้จริง ๆ

สรุปแล้วการจะเป็นนักดนตรีบำบัดที่ดีได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนอบรมมาอย่างเป็นระบบทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นอกจากความพร้อมด้านวิชาการแล้ว นักดนตรีบำบัดที่ดีควรมีความพร้อมเรื่องวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ด้วย ควรมีความสุขุมมีความเป็นผู้ใหญ่ มีความสนใจและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิชาการด้านงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ในการทำงานจริงจะต้องนำเอาความรู้จากทุกสาขาวิชามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เช่น เราจะใช้เทคนิคในการอิมโพรไวส์แบบใด ในการทำบำบัดแบบกลุ่มเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม หรือเทคนิคการพูดคุยกับผู้รับการบำบัดก่อนการทำบำบัด เพื่อสืบประวัติโรค การเลือกเครื่องดนตรีให้เหมาะกับเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ หรือแม้แต่ความรู้ทั่วไปทางสังคม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการฝึกฝน เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดที่เขียนมานี้เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์การเรียนและการทำงานด้านดนตรีบำบัดในประเทศเยอรมนี ในประเทศหรือทวีปอื่น ๆ อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียดกลุ่มวิชา หากเราเริ่มต้นการทำงานด้านนี้ด้วยความรัก คงไม่ยากเกินไปที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในการเรียน ในการทำงาน

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรดนตรีบำบัด:

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร Master of Arts in Music Therapy: www.chula.ac.th/program/music-therapy/

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล: www.music.mahidol.ac.th/academic/admission-master-of-arts-music-therapy/